รู้เขา รู้เรา รู้โลก รู้โศก รู้สุข ไม่สิ้นหวัง เพราะอ่านได้อ่านดีมีพลัง ห้องสมุดคือขุมคลังของชีวิต สุจิตต์ วงษ์เทศ
 
รายการหลัก
 
 
MENU LINK :
 
 
 
จำนวนผู้เยี่ยมชม
Website Hit Counter

 

 

 

เมืองมโหสถ เป็นชื่อบ้านเมืองโบราณตั้งแต่ราวหลัง พ.ศ.1000 ได้ชื่อจากนิทานชาดกเรื่องพระมโหสถปัจจุบันบ้านเมืองโบราณอยู่ในเขตอำเภอศรีมโหสถ จังหวัดปราจีนบุรี มีร่องรอยวัฒนธรรมกว้างขวางถึงอำเภอพนมสารคามด้วย

หลัง พ.ศ.1000 บริเวณที่ลุ่มตอนชายทะเลโคลนตมของอำเภอศรีมหาโพธิ (อยู่ทางเหนือ) อำเภอศรีมโหสถ (อยู่ตรงกลาง) ต่อเนื่องถึงอำเภอพนมสารคาม(ฉะเชิงเทรา อยู่ทางตอนใต้) เติบโตขึ้นจากการค้าข้ามภูมิภาคเป็นบ้านเมืองใหญ่ หรือรัฐขนาดเล็ก สมมุติชื่อเรียกตามนิทานท้องถิ่นของลาวพวนว่า เมืองมโหสถ มีเมืองมโหสถเป็นศูนย์กลางเกี่ยวข้องไปถึงชุมชนบ้านเมืองและรัฐขนาดเล็กทางที่ลุ่มๆดอนๆ ภายในจนถึงทะเลสาบในกัมพูชารวมถึงบริเวณลุ่มน้ำชี-มูล ในอีสาน และรัฐอู่ทอง (สุพรรณบุรี) ฟากตะวันตกลุ่มน้ำเจ้าพระยา

รัฐมโหสถมีขอบเขตทางเหนือถึงลำน้ำปราจีนบุรี ที่อำเภอศรีมหาโำพธิ และอำเภอประจันตคาม (ปราจีนบุรี) ทางใต้ถึงลำน้ำท่าลาดที่อำเภอพนมสารคามและอำเภอสนามชัยเขต (ฉะเชิงเทรา) มีร่องรอยแนวทำนบเบี่ยงเบนน้ำป่าเป็นคันดินยาวคล้ายถนนพุ่งตรงหากัน แต่ไม่เชื่อมติดกัน คงเว้นไว้ให้น้ำป่าไหลลงอ่าวไทยทางตะวันตกที่เริ่มเป็นโคลนตม

ศูนย์กลางรัฐมโหสถมีคูน้ำคันดิน มีผังรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้ามุมมนขนาดกว้าง 700 เมตร ยาว 1,500 เมตร ปัจจุบันเรียกเมืองมโหสถ อยู่บ้านโคกวัด อำเภอศรีมโหสถ จังหวัดปราจีนบุรี มีซากศาสนสถานขนาดใหญ่น้อยกระจายทั้งนอกเมืองและในเมือง รวมแล้วมีจำนวนมาก มีสระน้ำหลายแห่ง ที่สำคัญคือ สระแก้ว, สระมรกต, สระบัวล้า ตรงสระมรกต-สระบัวล้า มีซากศาสนสถานขนาดใหญ่เนื่องในศานาพุทธ-พรหมณ์ปนกัน ที่สำคัญมีรอยพระพุทธบาทคู่ สลักบนพื้นศิลาแลง มีศิลาจารึกกำกับด้วย

หลัง พ.ศ.1000 บริเวณสองฝั่งลำน้ำท่าลาด หรือคลองท่าลาดที่ไหลผ่านพนมสารคาม มีชุมชนบ้านเมืองโบราณหลายแห่ง เช่น บ้านโคกหัวข้าว และตั้งแต่บ้านเกาะขนุนถึงบ้านท่าเกวียน ฯลฯ

หลักฐานนี้แสดงว่าบริเวณพนมสารคามเริ่มมีชุมชนบ้านเมืองแล้วตั้งแต่ พ.ศ.1000 เป็นบ้านเมืองกึ่งกลางระหว่างเมืองมโหสถ (อำเภอศรีมโหสถ จังหวัดปราจีนบุรี) กับเมืองพระรถ (อำเภอพนัสนิคม จังหวัดชลบุรี)

หลัง พ.ศ.1500 บริเวณปราจีนบุรี มีศูนย์กลางอยู่ทางเมืองมโหสถ รุ่งเรืองขึ้นจากการค้าโลกแล้วเกี่ยวข้องเป็นเครือญาติกับกษัตริย์ขอมทั้งเมืองละโว้ (ลพบุรี) และเมืองพระนครที่ทะเลสาบ (กัมพูชา) กับเมืองพระรถ (ชลบุรี) เพราะมีดินแดนต่อเนื่องเป็นแผ่นเดียวกัน (ยุคนั้นไม่มีเ้ส้นกั้นอาณาเขตอย่างปัจจุบัน)

บ้านเมืองขนาดเล็กที่เป็นเครือข่าย เช่น บ้านโคกขวาง (อำเภอศรีมหาโพธิ จังหวัดปราจีนบุรี) กับที่ พนมสารคาม (อำเภอพนมสารคาม จังหวัดฉะเชิงเทรา) ได้ผลพวงจากการค้าโลกด้วย จึงพบโบราณวัตถุจำนวนหนึ่งกระจัดกระจายทั่วไปทางสองฝั่งลำน้ำท่าลาด ตั้งแต่บ้านเกาะขนุนและใกล้เคียง แสดงว่ามีผู้คนหลายเผ่าพันธุ์และหลายชาติภาษาปะปนอยู่ด้วยกันบริเวณรัฐมโหสถนี้

หลัง พ.ศ.1700 ปราจีนบุรีบริเวณลุ่มน้ำบางปะกงเป็นที่ดอนมากขึ้นจากทะเลโคลนตมที่ถมทับ ส่งผลให้เส้นทางคมนาคมออกอ่าวไทยไม่คล่องต้องติดขัด บ้านเมืองเขตเมืองมโหสถ (ปราจีนบุรี) และเมืองพระรถ (ชลบุรี) ต้องร่วงโรยแล้วรกร้างกลายเป็นป่าดง

ผู้คนดั้งเดิมของบ้านเมืองมโหสถเคลื่อนย้ายไปอยู่ที่อื่นซึ่งอุดมสมบูรณ์ทำมาหากินและทำมาค้าขายดีกว่า เช่น ทางชายฝั่งจังหวัดชลบุรี ที่มีเมืองศรีพะโล (อำเภอบางปะกง จังหวัดชลบุรี) เติบโตขึ้นมาแทน แต่ทางลุ่มน้ำเจ้าพระยามีรัฐใหม่เติบโตขึ้น ชื่ออโยธยาศรีรามเทพ (จะเป็นกรุงศรีอยุธยาต่อไปข้างหน้า) บางพวกไปอยู่ในรัฐใหญ่รอบทะเลสาบในกัมพูชา

พนมสารคาม ในวัฒนธรรมเมืองมโหสถ